ของเก่าถูกเขย่าด้วยของใหม่
เมื่อถามว่าโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปเร็วแค่ไหน ในแง่มุมของความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ ก็คงหาคำตอบที่แน่นอนได้ยากครับ เพราะเราต่างก็รู้สึกว่าโลกเทคโนโลยีนั้น กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นเมื่อสักสิบกว่าปีก่อน เรารู้สึกว่า นานๆ ครั้ง ถึงจะได้ยินข่าวคราวความเปลี่ยนแปลงบางอย่างบนโลกนี้ กว่าจะมีข่าวที่ค่อนข้างสร้างความฮือฮา หรือเรียกร้องความสนใจเป็นวงกว้างได้ ก็นานเป็นปีๆ ถึงจะโผล่มาสักเรื่องหนึ่ง อาจเพราะโลกทุกวันนี้มีการเชื่อมโยงถึงกันไปทั่วทุกมุมโลก ความเจริญรุ่งเรืองของอินเทอร์เน็ตและการติดต่อสื่อสาร ทำให้เราเห็นข่าวความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี จนแทบทุกวัน คำถามสำคัญคือ เมื่อทุกสิ่งรอบตัวเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เหมือนเกลียวคลื่นที่กระทบฝั่งทั้งวันทั้งคืน คนที่อยู่บนเส้นทางเหล่านี้ ต้องทำตัวอย่างไร มีคำตอบแสนง่ายดาย นั่นก็คือต้องปรับตัวให้ทันเท่านั้นครับ การเข้าใจ ยอมรับ และปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอจึงจะทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยในโลกที่มีพลวัตสูง หาไม่แล้วก็จะถูกคลื่นลูกใหม่ๆ ซัดโถมให้เลือนหายไป
คลื่นลูกใหม่ที่กำลังพูดถึงเหล่านี้ เราเรียกว่า Disruptive Technology หรือ Disruptive Innovation คือ เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เข้ามาพลิกหรือเขย่าให้สิ่งเดิมๆ เริ่มสั่นคลอน disrupt แปลว่า ขัดขวาง, ทำให้เสียระบบ เช่น Grab Taxi และ Uber กำลังสั่นคลอนธุรกิจรถแท็กซี่ ทำให้การให้บริการในรูปแบบเดิมเริ่มรวนและเสียระบบ หรือ Airbnb ที่เขย่าธุรกิจโรงแรม ทั้งนี้ยังรวมไปถึงพวก Mobile Banking ที่ทำให้ธุรกรรมของธนาคารในรูปแบบเดิมๆ เปลี่ยนแปลงไป หลายธนาคารกำลังจะปิดสาขาหลายแห่งลง หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสารมากมาย ต่างก็ทยอยปิดตัว ปิดตำนานที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ถูกสื่อทางเลือกใหม่เข้ามาทดแทน หรือแม้กระทั่งหลายงานที่เริ่มถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ หรือปัญญาประดิษฐ์ ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป บริบทต่างๆ ก็เปลี่ยนไป Solution หรือวิธีการแก้ปัญหา การนำเสนอคุณค่าในรูปแบบใหม่ๆ ที่ดีกว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ คำว่า disrupt จึงไม่ได้มีความหมายไปในทางที่ไม่ดี แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า กำลังมีสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเข้ามาแทนที่สิ่งเดิมๆ หรือระบบเก่าที่ไม่เข้ากับยุคสมัย เป็นสิ่งใหม่ที่เข้ากับพฤติกรรมของคนมากกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า อาจจะถูกกว่า เร็วกว่า แต่ที่แน่ๆ คือ ตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาใดๆ ได้ดีกว่าของเดิมนั่นเองครับ เพราะหัวใจหลักของ Disruption ก็คือ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สองสิ่งนี้ทำให้วิธีการแก้ปัญหาทำได้ดีขึ้นเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถขยายขีดความสามารถได้มากขึ้นในขณะที่ใช้ต้นทุนน้อยลง กระแส Startup ที่ถูกจุดขึ้นทั่วทุกมุมโลก คือการกระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปแก้จุดบกพร่องต่างๆ ที่มีหรือพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นหากเราไม่ต้องการให้สิ่งที่เรามีถูก disrupt ก็ต้องเร่งทำความเข้าใจทั้งตัวเรา ผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง สภาพแวดล้อมต่างๆ ว่าอะไรที่เรามี เราต้องการ ที่คนอื่นมี คนอื่นต้องการ สภาพแวดล้อมมีสิ่งใดที่เกื้อหนุนหรือขัดขวางอยู่บ้าง ยอมรับในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และเมื่อพบจุดบกพร่อง ก็แก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ถ้าทำได้ตามนี้ ก็เท่ากับเรากำลัง disrupt ตัวเราเอง ซึ่งคงเป็นการดีกว่า กับการที่เราเลือกที่จะ disrupt ตัวเราเอง ดีกว่าอยู่เฉยๆ ไม่พัฒนาปรับปรุงสิ่งใดให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนไป จนสักวันหนึ่งถูกสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่แล้วแก้ไขอะไรไม่ทันครับ
เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ