ความเป็นส่วนตัว ราคาเท่าไหร่

หากร้านกาแฟร้านหนึ่งมีโปรโมชัน เมื่อทำแบบสอบถามหรือให้ข้อมูลส่วนตัวบางอย่าง เช่น เบอร์โทรศัพทฺ์ อีเมล LINE ID Facebook ID แลกกับกาแฟฟรีหนึ่งแก้ว ท่านผู้อ่านจะยอมแลกหรือไม่ครับ ผมเชื่อว่าหลายท่านยอมแลก ในขณะที่หลายท่านไม่ยอมแลก นั่นเพราะเราให้คุณค่าต่อข้อมูลเหล่านั้นที่แตกต่างกันนั่นเองครับ

ที่ผ่านมา ระบบหลายระบบซึ่งบริการสาธารณะ ให้ใช้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราก็กำลังแลกเปลี่ยนกับอะไรบางอย่างเพื่อให้ใช้บริการนั้นได้ ตัวอย่างเช่น ผมเปิดแอพพลิเคชันแผนที่ เพื่อดูสภาพจราจร นั่นหมายถึงผมกำลังแลกเปลี่ยนข้อมูลพิกัดตำแหน่งที่อยู่ปัจจุบันกับข้อมูลสภาพจราจร เมื่อผมจะใช้ฟังก์ชันแนะนำเส้นทางจากที่อยู่ปัจจุบันไปยังสถานที่เป้าหมาย เมื่อผมอยากได้เส้นทางที่ดีที่สุด เช่น เร็วที่สุด สะดวกที่สุด ผมก็ต้องแลกเปลี่ยนด้วย ข้อมูลแผนการเดินทางของผม ในกรณีเช่นนี้ ผมแทบไม่รู้สึกสูญเสียอะไรและยินดีแลก นั่นเพราะว่าผมตีความคุณค่าของสิ่งที่จะได้รับมานั้น คุ้มค่ากับสิ่งที่ผมต้องแลกไป สิ่งนี้เราเรียกกันว่า “Economic Exchange” ครับ

หลักการของ Economic Exchange นั้นเรียบง่ายครับ คือ การแลกเปลี่ยนที่สมเหตุสมผล ผมเตือนเพื่อนนักพัฒนาอยู่เสมอว่า การให้ได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้นั้นไม่ง่าย ในที่นี้ไม่รวมวิธีที่แอบเก็บหรือแอบทำ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมไม่สนับสนุนให้ทำและต้องให้ความสำคัญกับจรรยาบรรณของนักพัฒนาที่ดี แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ยากเกินไป หากเราสามารถนำเสนอคุณค่าหรือคุณประโยชน์(Benefit) ที่สมน้ำสมเนื้อกันได้ ลูกค้าหรือผู้ใช้ย่อมยินดีและเต็มใจที่จะมอบข้อมูลสำคัญของเขาให้กับเราได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ หากสามารถทำได้ จะทำให้การได้มาซึ่งข้อมูลของเรานั้น มีความถูกต้องชอบธรรมและยั่งยืน ตราบเท่าที่ผู้ใช้ยังรู้สึกคุ้มค่ากับสิ่งที่ใช้แลกกัน

ที่ผมเล่ามานี้ คือในมุมของนักพัฒนาครับ มาในมุมของผู้ใช้กันบ้าง ทุกวันนี้เราสูญเสียข้อมูลส่วนตัวไปอยู่ตลอดเวลาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว รวมถึงรู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วย ดังจะเห็นเป็นข่าวกันอยู่เนืองๆ ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้คือผู้ใช้ส่วนหนึ่งไม่ได้ใส่ใจหรือให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคลหรือความเป็นส่วนตัว(Privacy) หรืออาจไม่เห็นถึงผลกระทบใดที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลัง ซึ่งหลายครั้งก็เกิดผลกระทบในวงกว้างได้เช่นกัน เมื่อไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควร ก็อาจถูกหลอกล่อด้วย Economic Exchange ที่ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่สมน้ำสมเนื้อ นั่นเพราะเราตีมูลค่าหรือให้ราคาของข้อมูลส่วนตัวต่างกัน ผมยกตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านคิดตามนะครับ เป็นต้นว่า สมมติมีร้านกาแฟร้านหนึ่ง มีโปรโมชันกาแฟฟรี 1 แก้ว แลกด้วยข้อมูลเบอร์มือถือส่วนตัว ท่านคิดว่าท่านจะแลกหรือไม่ ถ้าแลกก็พอจะสรุปแบบคร่าวๆ ได้ว่า เบอร์ส่วนตัวของท่านมีมูลค่าเทียบเท่าหรือต่ำกว่ามูลค่าของกาแฟแก้วนั้น หากไม่แลกก็แสดงว่า กาแฟนั้นมีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นส่วนตัวในข้อนี้ สถานการณ์ต่อมาด้วยโปรโมชันเดียวกันคือกาแฟฟรี 1 แก้ว แต่ตอนนี้ทางร้านไม่ต้องการเบอร์มือถือของท่าน แต่ต้องการชื่อเล่นและเบอร์มือถือเพื่อนของท่านจำนวน 5 คน คำถามคือจะแลกหรือไม่ ผมจะไม่ขอให้ทุกท่านตอบคำถามนี้ แต่อยากให้ท่านผู้อ่านได้กลับไปคิดทบทวนครับ ว่าในบางมุมบางสถานการณ์ หลายท่านให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนตัวของตนเองไว้สูงมาก แต่ในทางกลับกัน กลับถูกใช้เป็นทางผ่านเพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของคนใกล้ชิดได้อย่างง่ายดาย

ข้อนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญและจำเป็นต้องมีความตระหนักรู้อยู่เสมอครับ ดังที่จะเห็นกันอยู่บ่อยครั้ง เช่น การถูกหลอกล่อด้วยเกมหรือกิจกรรมบางอย่าง ที่ต้องแลกด้วยข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลของเพื่อน และหลายครั้งเมื่อผู้ใช้ส่วนหนึ่งไม่ได้ใส่ใจที่จะอ่านกติกาหรือข้อตกลงการใช้งานให้ละเอียดดีเสียก่อน อาจถูกสอดไส้ด้วยข้อตกลงบางข้อที่อาจสร้างผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่นรอบข้างได้ แม้แพลตฟอร์มหรือระบบส่วนใหญ่ พยายามหาทางป้องกันกิจกรรมใดๆ ที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์แอบแฝงอยู่ อย่างไรก็ตามก็ป้องกันได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ปราการด่านสุดท้ายที่ช่วยได้ ก็คือความระมัดระวังของเราเท่านั้น แต่เมื่อระบบต่างๆ เชื่อมโยงถึงกัน เพียงความระมัดระวังของเราเองอาจไม่เพียงพอ ต้องอาศัยความระมัดระวังของคนรอบข้างเราด้วยเช่นกัน

เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อมี Economic Exchange คิดให้ดีก่อนจะแลกครับ ว่าสิ่งที่จะแลกกันนั้น คุ้มค่าจริงหรือเปล่า จะสร้างผลกระทบใดในภายหลังทั้งต่อตัวเราเองและคนรอบข้างด้วยหรือไม่ สุดท้ายนี้ ข้อมูลส่วนตัวและความเป็นส่วนตัวของท่านผู้อ่าน ราคาเท่าไหร่กันครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.