สมองกลแฝงตัว
ผมเป็นแฟนตัวยงคนหนึ่งของโดราเอมอน ดูมาตั้งแต่วัยเด็ก จนทุกวันนี้ก็ยังดูเป็นประจำเหมือนเดิม ชอบของวิเศษที่เป็นเหมือนสิ่งของในจินตนาการ แต่ในปัจจุบัน เราเริ่มได้เห็นว่า ของวิเศษของโดราเอมอนหลายต่อหลายชิ้นเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการประดิษฐ์และคิดค้นอุปกรณ์ในลักษณะเดียวกัน ผมนึกถึงตอนหนึ่งที่มีชื่อตอนว่า “เครื่องทำหุ่นยนต์” ที่โนบิตะและโดราเอมอนเอาแคปซูลขนาดเล็ก ไปติดอุปกรณ์ภายในบ้าน เมื่ออุปกรณ์ใดติดแคปซูลนี้แล้ว ก็จะสามารถทำงานได้เองโดยอัตโนมัติ รวมไปถึงสั่งงานด้วยเสียงได้ด้วย ฟังดูคุ้นๆ ไหมครับ ใช่ครับ ก็คือแนวคิดที่เราเรียกว่า IoT หรือ Internet of Things ที่เราคุ้นเคยและน่าจะรู้จักกันดีอยู่แล้วในปัจจุบันนั่นเองครับ
ทุกวันนี้ ไม่ว่าเราหันมองไปทางใด รอบตัวจะพบอุปกรณ์อัจฉริยะที่มีความสามารถหลากหลาย เครื่องดูดฝุ่นที่ทำงานได้เอง กวาดเองถูเอง กลับไปชาร์จพลังงานเอง หลอดไฟเปิดปิดเอง ลำโพง โทรทัศน์ โทรศัพท์ เครื่องปรับอากาศ พัดลม ถังขยะ ประตู บันได ฯลฯ ก็ล้วนแต่จะกลายเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะไปกันแทบจะทั้งหมดแล้ว เราเห็น Smart Devices เราเห็นแนวคิดของ Smart Home, Smart City นั่นหมายความว่า อนาคตอันใกล้นี้ เราจะมีบริบทของการดำรงชีวิต(Context of Living) เป็นไปในแนวทางเช่นนี้อย่างแน่นอน เบื้องหลังความฉลาดของสรรพสิ่งที่กล่าวมา นอกจากความสามารถทางซอฟต์แวร์และความฉลาดของระบบปัญญาประดิษฐ์ สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือฮาร์ดแวร์นั่นเองครับ แคปซูลที่โนบิตะโดราเอมอนใส่เข้าไปในอุปกรณ์ที่แสนธรรมดา เพื่อทำให้กลายเป็นอุปกรณ์วิเศษนั้น ก็คือ “สมองกล” และอันที่จริง เราก็เรียกสิ่งนี้ว่า “สมองกลฝังตัว” หรือ “ระบบฝังตัว” (Embeded System) ซึ่งก็คือระบบประมวลผล ที่มี หน่วยประมวลผลกลางของไมโครคอมพิวเตอร์(คอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก) หรือ “Microprocessor” หรือ “Microprocessing Unit (MPU)” อยู่ภายใน ทำหน้าที่คำนวณประมวลผลเหมือนคอมพิวเตอร์ที่เรารู้จักกัน แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก บางตัวอาจมีขนาดเล็กแค่ไม่กี่มิลลิเมตร และเมื่อถูกฝังเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ใดแล้ว หากมองแต่เพียงภายนอก ก็ไม่อาจรู้ได้ว่า ภายในนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง ดังนั้นเมื่อเรามองในอีกมุมหนึ่ง การที่เรามีอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) อยู่รอบตัวเรา ทั้งที่เรารับรู้ได้และที่ไม่อาจรับรู้ได้ ก็เหมือนว่าเรากำลังถูกรายล้อมด้วย “สมองกลฝังตัวที่แฝงตัว” อยู่รอบตัวเรานั่นเองครับ ลองนึกจินตนาการว่า ลำโพงอัจฉริยะที่เราวางอยู่ในห้องนอนหรือในห้องนั่งเล่นกำลังทำงาน ซึ่งการทำงานของลำโพงดังกล่าว ก็คือ การคอยดักฟังเสียงของเรา ว่าเมื่อไหร่ผู้ใช้จะสั่งการด้วยคำสั่งเสียงต่างๆ ที่ระบบเข้าใจเพื่อทำงานตอบสนองความต้องการนั้น โดยเสียงที่ลำโพงบันทึกไว้นั้น บางส่วนอาจมีการประมวลผลที่ตัวลำโพงเองได้(Edge Computing) แต่บางส่วนจะถูกส่งไปยังระบบกลางผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต(Cloud Computing) เพื่อทำการวิเคราะห์ให้ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น และส่งการตอบสนอง(Response) ที่เหมาะสมกลับมา ผมมั่นใจว่าระบบส่วนใหญ่ก็มีหลักการทำงานเช่นนี้ แม้แต่กระทั่งอุปกรณ์ที่สร้างและจำหน่ายโดยบริษัทด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมระดับโลกที่เป็นที่รู้จักกันดี แต่ในฐานะผู้ใช้ ผมยังค่อนข้างมั่นใจว่า บริษัทใหญ่เหล่านี้ แม้จะนำข้อมูลลับส่วนตัวของเราไปใช้ในการวิเคราะห์ ก็จะมีขั้นตอนในการเข้ารหัสให้ข้อมูลของเรามีความปลอดภัยและจะไม่กระทบต่อนโยบายความเป็นส่วนตัว(Privacy) ทำให้ในจุดนี้ เราอาจจะพอเบาใจได้อยู่บ้าง แต่ในขณะเดียวกัน หากท่านผู้อ่านลองค้นหาในเว็บไซต์ต่างๆ จะพบอุปกรณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ ที่มีความสามารถคล้ายคลึงกัน และราคาถูกกว่าหลายเท่า แต่ผลิตโดยบริษัทที่เราไม่รู้จักเลย ก่อนใช้งานก็คงต้องชั่งใจและพิจารณาให้ดี ดังที่ผมอธิบายถึงตัวตัวอย่างระบบการทำงานของอุปกรณ์ เพราะก็มีโอกาสที่อุปกรณ์อันมีสมองกลฝังตัว จะทำหน้าที่เป็น “สมองกลแฝงตัว” แอบส่งข้อมูลสำคัญของเราไปอย่างลับๆ ให้ใครสักคน ณ แห่งใดแห่งหนึ่งบนโลกนี้ก็ได้
การที่ผมเล่าถึงเรื่องนี้นั้น ไม่มีเจตนาให้ท่านผู้อ่านหวาดระแวงหรือตื่นตระหนกต่อสิ่งดังกล่าว แต่เพียงต้องการให้ท่านผู้อ่าน มีความเข้าใจถึงเทคโนโลยีที่มีอยู่ การทำงาน รู้เท่าทันความก้าวหน้าเหล่านี้ไว้ และที่สำคัญคือเราสามารถใช้งานผลผลิตของวิทยาการเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ แต่ต้องมีความระมัดระวังอยู่เสมอ เพื่อป้องกันภัยคุกคามที่ไม่คาดคิดอันอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต หากเราใช้โดยไม่ระมัดระวังให้ดีเพียงพอและขาดความรู้ความเข้าใจที่ดี