นับตั้งแต่โลกเราก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล นับรวมๆ แล้วก็แค่ไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี่เอง หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปอย่างมากจนเราแทบเปลี่ยนความคิดความเข้าใจตามไม่ทัน เมื่อสักสามสิบปีก่อน ก่อนที่คอมพิวเตอร์จะเป็นที่แพร่หลาย (แมคอินทอชเครื่องแรกวางจำหน่ายปี 2527 แต่กว่าจะเข้ามาถึงไทยก็ใช้เวลาอีกหลายปี) ผมจำได้รางๆ ว่า การจะดูหนังสักเรื่อง ก็คือการไปดูที่โรงหนังเลย แม้ยุคนั้นจะมีทีวีแล้ว แต่ก็คนละอารมณ์กันเพราะทีวีเลือกดูไม่ได้ หนังที่โรงหนังก็เป็นเรื่องที่ใหม่กว่า หลายปีต่อมาธุรกิจโรงหนังล้มกันระเนระนาด จากการเข้ามาของ Video Home System(VHS) คือ หนังที่อยู่ในรูปแบบของม้วนวิดีโอเทป ก็เหมือนย้ายโรงหนังไปไว้ที่บ้าน อยากดูกี่รอบก็ได้ เรื่องอะไรก็ได้ แค่ออกไปเช่าที่ร้านเช่าวิดีโอแถวๆ บ้านที่มีให้เลือกหลายร้อยหลายพันเรื่องที่เราไม่เคยดู

แต่อย่างไรก็ตามคล้อยหลังมาสักพัก VHS ก็ถูกแทนที่ด้วย Video CD(VCD) ที่มีคุณภาพเสียงและภาพคมชัดมากกว่า เวลาไปเช่าก็ไม่ต้องหอบหนังเป็นตั้งๆ ราคาก็ถูกกว่าจนบางเรื่องที่ชอบจริงๆ ก็สามารถหาซื้อมาเก็บไว้ที่บ้านได้เลย ในยุคต่อมาก็เริ่มมี DVD ที่มีคุณภาพของเสียงและภาพที่สูงขึ้น ไปจนถึง Bluray ที่มีความละเอียดสูงหรือที่เรียกว่า High Definition(HD) แม้ในช่วงต้นของยุคเดียวกันนี้จะมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่การดูหนังผ่านอินเทอร์เน็ตยังไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากความเร็วของอินเทอร์เน็ตยังไม่เร็วพอ ปัจจุบันไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว ทุกวันนี้เราสามารถดูหนังระดับ HD แบบออนไลน์ได้อย่างสบายใจ ไม่ว่าจะเป็น Smart TV ที่บ้านที่ต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตไว้แล้ว หรือใน Smart Phone ที่อยู่ในมือ นั่นเป็นสาเหตุให้ธุรกิจขายหนังแผ่นเริ่มลดขนาดของธุรกิจลงไปเรื่อยๆ ตามความนิยมที่ลดลง ผมเองก็เป็นคนที่ชอบซื้อหนังแผ่นมาดูและเก็บสะสม เท่าที่กวาดสายตาดูที่ชั้นวางก็มีหลายร้อยเรื่อง ปัจจุบันเริ่มซื้อเป็นแผ่นน้อยลง แต่หันมาซื้อผ่านระบบออนไลน์แทน เพราะเริ่มไม่มีที่ให้เก็บแผ่นและรู้สึกว่าการซื้อแผ่นมีภาระในการดูแลพอสมควร หากดูแลไม่ดีเวลาแผ่นเสียก็น่าเสียดายและที่สำคัญการซื้อสะสมแบบออนไลน์นั้นถูกกว่าซื้อเป็นแผ่นประมาณครึ่งหนึ่งหรือมากกว่า ปัจจุบันหนังเรื่องหนึ่งถ้าซื้อแผ่นก็อยู่ที่หลักสามสี่ร้อยบาทไปจนถึงพันสองพันบาท (เราไม่พูดถึงแผ่นละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานะครับ)

ทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้  คือเรื่องราวคร่าวๆ ถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการดูหนังและความนิยมที่เปลี่ยนแปลงไป ด้านการฟังเพลงก็ไม่ได้ต่างไปจากนี้ครับ เอาไว้ผมจะกลับมาเล่าให้ลึกมากขึ้นในตอนอื่น แต่ประเด็นของตอนนี้คือ นับตั้งแต่เริ่มมีหนังและเพลงขายแบบออนไลน์ ผมซื้อเก็บไว้อยู่ในบัญชีออนไลน์เป็นจำนวนมาก มีหนังหลายร้อยเรื่องและเพลงอีกหลายพันเพลง อ้อ มีหนังสือออนไลน์อีกนับร้อยเล่มด้วยเช่นกัน ไหนจะเป็นเกม โปรแกรม แอพลิเคชันอีก (ไม่รวมพวกที่เป็นบริการเช่านะครับ) ทั้งหมดนี้ถือเป็นทรัพย์สินดิจิทัล(Digital Asset) ของผม และผมมีคำถามสำคัญมากตอนนี้คือ ถ้าผมตายไป จะจัดการกับทรัพย์สินเหล่านี้อย่างไร มันไม่เหมือนแผ่นหนังแผ่นเพลงหรือเล่มหนังสือที่จับต้องได้ สามารถส่งต่อเป็นมรดกได้ แต่สิ่งเหล่านี้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ออนไลน์อยู่ในอินเทอร์เน็จ ในวันที่เราไม่อยู่แล้วจะส่งต่อให้คนอื่นได้อย่างไร ทรัพย์สินเหล่านี้รวมๆ มูลค่าแล้วก็มากเอาเรื่องเหมือนกันนะครับ แม้บางบริการจะเปิดโอกาสให้ญาติผู้เสียชีวิตยื่นหลักฐานเพื่อขอสิทธิ์เข้าไปจัดการบัญชีออนไลน์ได้ ก็ยังยุ่งยากและไม่ง่ายสำหรับที่คนทั่วไปใครๆ ก็สามารถทำได้ ยิ่งบริการส่วนใหญ่เป็นของบริษัทต่างชาติ ก็ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนไปอีกหลายเท่า แต่ที่เรายังไม่ค่อยตื่นตัวกับเรื่องนี้เท่าไหร่นัก อาจเพราะยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ จึงยังไม่ค่อยเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญที่จะหามาตรการใดๆ มาจัดการเรื่องนี้ให้ชัดเจน แต่สำหรับผมแล้ว เมื่อลองไล่ดูรายการทรัพย์สินดิจิทัลที่มีอยู่ตอนนี้ คิดว่าส่วนหนึ่งในพินัยกรรมคงต้องมีรายชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านของระบบออนไลน์ไว้ด้วย(ฮ่า) แต่ก็ติดปัญหานิดหน่อยตรงที่ระบบเหล่านี้ชอบบอกให้ผมเปลี่ยนรหัสผ่านอยู่เสมอนี่สิครับ คงต้องแก้พินัยกรรมกันอีกหลายรอบ แล้วท่านผู้อ่านหละครับมีทรัพย์สินดิจิทัลมากน้อยแค่ไหน แล้วคิดว่าจะจัดการกับมันอย่างไรบ้าง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.