อนาคตในมือใคร
ทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาผมขลุกตัวอยู่ในค่ายทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีค่ายหนึ่ง ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาจากทั่วประเทศตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาไปจนถึงมหาวิทยาลัย นำผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ผ่านการประกวดในระดับประเทศแล้ว มาพัฒนาต่อยอด ผลงานมากมายเกือบสามสิบผลงาน ที่สร้างขึ้นมาจากความสามารถของเยาวชนเหล่านี้รวมกันเกือบร้อยชีวิต มีทั้งโปรแกรม เกม แอพพลิเคชัน เครื่องมือทางการเกษตร สุขภาพ การแพทย์ ฯลฯ ทั้งหมดจะถูกคัดเลือกให้เหลือเพียง 15 ผลงาน เพื่อรับทุนไปพัฒนาต่อและผลักดันให้เกิดการใช้งานจริง
หนึ่งสัปดาห์ในค่ายดังกล่าวนี้ มุ่งเน้นและปลูกฝังให้เด็กเปลี่ยนกระบวนการคิดและการพัฒนา จากที่เคยทำงานเพียงเพราะความสนใจของตนเองอย่างเดียว ให้เริ่มนึกถึงผู้อื่นมากขึ้น เพื่อให้ผลงานที่สร้างขึ้นมานั้น ตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ กิจกรรมมากมายตลอดทั้งสัปดาห์จึงอัดแน่นไปด้วยเครื่องมือต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้เด็กเหล่านี้ได้พัฒนาศักยภาพ ขีดความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มที่ ให้พวกเขาสามารถขยับเข้าใกล้ความฝันที่จะทำให้ผู้คนและสังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ของตนเองและผู้อื่นมากขึ้น ทำให้ผมตระหนักได้ข้อหนึ่งว่า เด็กไทยนั้นมีความสามารถ เต็มเปี่ยมด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ สามารถนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาที่อยู่รอบตัวเขาได้ แต่ความสามารถด้านการเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับผู้อื่น เข้ากับสังคม การมองเห็นความเป็นมนุษย์ของผู้คน พยายามทำความเข้าใจกันและกัน สิ่งเหล่านี้ยังคงต้องเปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้เขาได้เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เห็นและตระหนักถึงความสำคัญ เพราะเมื่อมีความเข้าใจที่ดีต่อสิ่งเหล่านี้แล้ว ย่อมทำให้พวกเขาสร้างสรรค์ผลงานที่ดีและมีคุณค่าต่อผู้คน ตอบโจทย์และแก้ปัญหาที่แท้จริง นอกจากนี้ความสามารถอีกด้านหนึ่งที่สำคัญและต้องปลูกฝัง ฝึกฝนกันไว้คือ การทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่เด็กไทยยังค่อนข้างขาดแคลน แต่ก็ยังสามารถสร้างได้ เพียงแค่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ และเห็นถึงความสำคัญ ความแตกต่างของการทำงานแบบคนเดียวกับแบบเป็นทีม เพราะปัญหามากมายในปัจจุบันมีความซับซ้อนเกินกว่าที่คนคนเดียวจะสามารถแก้ได้ จึงต้องอาศัยคนหลายคนที่มีความคิด ความฝันในสิ่งเดียวกันหรือคล้ายกัน มาช่วยกันแก้
ผมเห็นเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ก็รู้สึกชื่นใจและชื่นชม ที่สามารถนำสิ่งที่เขารู้ สิ่งที่เขาทำได้ มาประกอบร่างกันกลายเป็นผลงานขึ้นมา ดูไปแล้วก็เหมือนการปรุงอาหารขึ้นมาสักเมนู ในช่วงแรกฝีมืออาจจะยังไม่คม ไม่นิ่ง ทำให้รสชาติออกมายังไม่กลมกล่อมเท่าไหร่ แต่หากปล่อยให้พวกเขาได้ฝึกปรุง บ่อยๆ ฝึกทำบ่อยๆ สักวัน(ที่ไม่นานมากนัก) ก็ย่อมจะสามารถทำเมนูที่เลิศรส ถูกปาก ถูกใจคนกินได้
บางครั้งผู้ใหญ่ก็สร้างพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขต่างๆ ให้เด็กอยู่ ทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสได้แสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมาได้อย่างเต็มที่ เพราะถูกวางกรอบไว้ว่าควรคิดควรทำอย่างไร มันก็คืออนาคตที่ถูกออกแบบด้วยคนรุ่นก่อน ที่คิดว่าเหมาะสมสำหรับคนในรุ่นต่อไปแล้ว ซึ่งก็มีทั้งที่ดีและไม่ดี ที่ว่าไม่ดีนั่นก็คือ เรายังขาดกระบวนการที่จะให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตของพวกเขาน้อยเกินไป ก็เหมือนกับเราพยายามปรุงอนาคตขึ้นมา ก็ย่อมมีบางเมนูที่ไม่ถูกใจคนกินเลย และเราก็ไม่เคยกลับไปถามเขาเลยว่าแล้วชอบกินอะไร ที่ทำมาชอบหรือเปล่า
ในหนึ่งสัปดาห์เต็มที่ผ่านมานี้ ผมเห็นพัฒนาการทางความคิดและความสามารถของเด็กเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน แม้เด็กๆ ในวัยนี้ จะมีเพียงแค่ประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมดในปัจจุบันและมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ แต่ก็เป็น 100% ของอนาคต ดังนั้นเราจึงควรส่งเสริมอย่างเต็มที่ในทุกด้าน ให้พวกเขาได้พัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถออกแบบสร้างอนาคตที่ดีสำหรับทุกคน