เพราะแตกต่าง เราจึงพิเศษกว่า

เขียนถึงปัญญาประดิษฐ์(Artificial Intellience:AI) ไปหลายตอน เกรงว่าท่านผู้อ่านจะเบื่อกันเสียก่อน แต่ก็อดใจไม่พูดถึงเรื่องนี้ไม่ได้ และที่เราเห็นเรื่องของ AI กันบ่อยไม่เว้นแต่ละวัน เนื่องจากพัฒนาการแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีด้านนี้ ทำให้แทบทุกอุตสาหกรรมพุ่งความสนใจไปที่ AI

หลายท่านอาจจะได้เห็นผ่านตากันไปบ้างเมื่อเร็วๆ นี้ มีโปรแกรมหนึ่ง ที่ไม่ว่าเราจะขีดๆ เขียนๆ อะไรลงไป โปรแกรมนี้จะพยายามวิเคราะห์ลายเส้นที่เราวาด ว่าจะเป็นภาพอะไร จากนั้นก็จะเลือกภาพที่คล้ายกันมาให้เรา ผมสามารถวาดภาพงูได้ เพียงแค่วาดเส้นโค้งไปโค้งมา หรือภาพหมา ภาพจักรยานได้ เพียงแค่วาดรูปเลขาคณิตพื้นฐานลงไป เติมเส้นเข้าไปอีกนิดหน่อย เพื่อเน้นส่วนสำคัญ เขียนวงกลมสองสามวงลงในรูปสามเหลี่ยม มันก็เดาได้ว่าผมกำลังจะวาดภาพพิซซ่า และด้วยทักษะการวาดเขียนระดับง่อยๆ ของผม ก็จะได้ภาพสวยๆ ออกมาได้คล้ายกับที่ผมคิดไว้ โดยมีเจ้าโปรแกรมที่ว่านี้เป็นผู้ช่วยสุดอัจฉริยะ ถ้าสนใจก็เข้าไปลองเล่นดูได้ตามเว็บไซต์นี้ครับ https://www.autodraw.com/

ความรู้สึกแรกที่ผมเห็นโปรแกรมนี้ ยอมรับว่าทึ่งในความสามารถของมันครับ ไม่เพียงแต่จะสามารถวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ยังใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีในการเปรียบเทียบลายเส้นของเราก็ภาพวาดต่างๆ ที่ไม่รู้มีอยู่กี่หมื่นกี่แสนภาพ ว่าเส้นที่เราเพิ่งขีดไป น่าจะเป็นภาพอะไรในบรรดาภาพมากมายที่อยู่ในคลังข้อมูล ดังนั้นหากมีการนำโปรแกรมนี้มาใช้งานจริงในอนาคตแล้ว การจะเขียนหนังสือเล่ม นิทานสักเรื่องหรือทำสื่อการเรียนการสอนที่ต้องใช้ภาพวาดประกอบ ก็จะสามารถทำได้อย่างง่ายดาย เราเพียงแค่วาดคร่าวๆ แล้วเลือกภาพที่ใกล้เคียงจินตนาการของเราก็เป็นอันใช้ได้ ง่ายดีไหมครับ คงช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้นมาก แต่ถึงจุดนี้หลายท่านอาจคิดว่า เมื่อภาพพิซซ่าของคนทั้งโลกเหมือนกันหมด ก็เท่ากับว่าความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์กำลังถูกครอบงำด้วยรูปแบบบางอย่างที่มี AI เป็นผู้กำหนดไว้ แล้วมนุษย์จะหลงเหลือความแตกต่างอะไรอยู่อีกหรือไม่ นั่นเป็นความรู้สึกที่สองที่ตามมาครับ

ความฉลาดล้ำของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันที่เริ่มเผยความสามารถต่างๆ ให้เราเห็น ทำให้เราทึ่งแต่ก็เกิดความสงสัยตามมาอยู่เสมอ ในกรณีข้างต้นที่ผมเล่าไปก็เช่นกัน ความสามารถนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำอนาคตครับว่า งานใดก็ตามที่เราต้องการความแม่นยำสม่ำเสมอ ความถูกต้องที่ค่อนข้างคาดการณ์ได้ งานที่มีความเหนื่อยล้าของมนุษย์เป็นตัวแปรหนึ่งของผลลัพธ์ มนุษย์จะเสียงานนั้นให้กับคอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์ไปในที่สุด ดังนั้นหากงานที่ท่านทำอยู่ในปัจจุบันมีลักษณะแบบนั้น ท่านก็เข้าข่ายที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอะไรสักอย่างในอนาคต อย่างไรก็ตาม เรายอมรับว่าหลายครั้งปัญญาประดิษฐ์ได้นำเสนอคำตอบที่น่าทึ่งให้กับเรา แต่ตราบใดที่เรายังไม่สามารถเข้าใจถึงที่ไปที่มาของคำตอบเหล่านั้นได้ เราก็ยังไม่อาจนำคำตอบดังกล่าวไปใช้ได้อย่างสนิทใจ และสิ่งนี้ถือเป็นความท้าทายเป็นอย่างมาก กล่าวคือ เราสร้างสิ่งหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้มันเรียนรู้บางอย่างที่ซับซ้อนได้เอง เป็นงานที่ยากลำบากสำหรับมนุษย์ที่จะทำได้ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ แต่เมื่อได้คำตอบมาแล้ว เราก็จำเป็นต้องรู้ว่าทำไมถึงคิดแบบนั้นออกมา สมเหตุสมผลหรือไม่ เป็นคำตอบที่ดีเหมาะสมที่สุดหรือไม่ เพราะเรายังไม่อาจไว้วางใจที่จะนำสิ่งเหล่านั้นไปใช้ในทันทีได้ โดยไม่ผ่านการพิสูจน์ พิจารณาที่รอบคอบของมนุษย์ให้ดีเสียก่อน

มนุษย์เรานั้นชื่นชอบความแน่นอน กระหายใคร่รู้สิ่งต่างๆ ในอนาคต จึงพยายามสร้างเครื่องมือมากมายไว้คาดการณ์อนาคต ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันก็ตอบสนองได้ดีในระดับหนึ่งทีเดียว แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีความผันผวนแปรปรวนที่ยากจะคาดเดาในความเป็นมนุษย์และธรรมชาติอีกมากมาย ที่เทคโนโลยียังไม่อาจเอื้อมถึงได้ หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ มนุษย์ยังมีองค์ความรู้ไม่เพียงพอที่จะสร้างเทคโนโลยีให้เข้าใจในทุกสรรพสิ่งได้ เพราะมนุษย์ในฐานะผู้สร้างเองก็ยังเข้าใจได้ไม่ทั้งหมด และนั่นก็เพียงพอที่จะทำให้คนหลายพันล้านคนบนโลกใบนี้แตกต่างกัน แม้แต่คู่แฝดที่คลานตามกันมา ก็มีบางสิ่งหรือหลายสิ่งที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นแม้เทคโนโลยีจะตีกรอบครอบงำเราในบางด้าน ก็ไม่อาจทำให้เราสูญเสียความเป็นมนุษย์ลงไปได้ และคนที่สามารถยืนหยัดความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้ มีความคิดความฝัน จินตนาการที่สร้างสรรค์และแตกต่าง ก็ย่อมมีความพิเศษเหนือผู้อื่น แม้กระทั่งปัญญาประดิษฐ์ที่สุดอัจฉริยะเพียงใดก็ตาม ก็ไม่อาจทดแทนเราได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.