อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต

ในการบรรยายครั้งล่าสุด เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ของข้อมูลให้กับสถาบันหนึ่ง อาจารย์ท่านหนึ่งมีคำถามว่า ถ้าหากเกิดภัยพิบัติจนทำให้มนุษยชาติสูญสิ้นอารยธรรม แล้วลูกหลานของเราในอีกร้อยปีพันปีข้างหน้า จะศึกษาเรื่องราวของเรา ได้อย่างไร … ลองเดาคำตอบของผมสิครับ 🙂

คำตอบ

ในคำถามของอาจารย์ บ่งบอกถึงความกังวลอยู่ 3 ข้อ

1. ความสามารถของเราในปัจจุบัน ว่าจะเก็บรักษาอารยธรรมไว้ได้ดีแค่ไหน

2. การรับมือต่อภัยพิบัติที่คาดไม่ถึง

3. ความสามารถของลูกหลานในอนาคต

ผมตอบรวมๆ ไปตามลำดับคือ

จาก การศึกษาและค้นพบแหล่งอารยธรรมโบราณ ที่เราเชื่อว่า เกิดการล่มสลายด้วยเหตุผลต่างๆ และภัยพิบัติก็เป็นหนึ่งในนั้น ทำให้เราเริ่มเป็นกังวลต่ออนาคตของอารยธรรมของพวกเรา มีการคิดค้นเทคโนโลยีมากมายเพิ่มเก็บรักษาสิ่งต่างๆ ในปัจจุบันให้สามารถเหลือรอดไปถึงอนาคตให้ได้ เช่นแนวคิดห้องนิรภัยใต้ดินไว้เก็บเอกสารและพันธุ์พืช ที่คิดว่าจะปลอดภัยต่อภัยพิบัติทั้งจากธรรมชาติและจากน้ำมือมนุษย์เอง แต่ถึงแม้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุดเท่าที่จะมีได้ตอนนี้ ก็ไม่ได้ทำให้เรานอนตาหลับ หรือพูดได้เต็มปากด้วยความมั่นใจ ว่าเทคโนโลยีต่างๆ ที่เรามีตอนนี้ จะสามารถรับมือกับสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ทั้งหมด เพราะเท่าที่ผ่านมา เราพ่ายแพ้ให้กับธรรมชาติมาโดยตลอด แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าแค่ไหน ก็พยากรณ์บอกเราได้ล่วงหน้านิดหน่อย ลดความเสียหายลงไปบ้างนิดหน่อย

แต่เมื่อเราคิดถึงอนาคตของ มนุษยชาติข้างหน้า เราคงทำได้เพียง ทำหน้าที่ของเราทุกคนวันนี้ให้ดีที่่สุด อาจารย์มีหน้าที่ผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพเข้ามาสู่สังคม พวกผมก็มีหน้าที่วิจัยสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา เมื่อทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดแล้ว มันก็จะเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหาย ในสิ่งที่ประเทศเรา ที่โลกของเรายังต้องการ และถ้าในวันที่เรื่องราวของพวกเราต้องล่มสลายไป อย่างน้อยในฐานะของบรรพบุรุษ ก็ถือว่าเราทำหน้าที่ตรงนี้ได้อย่างเต็มกำลังแล้ว ส่วนลูกหลานเราในอนาคตนั้น เขาจะแกะรอยตามหาเราเจอหรือไม่ พวกเขาจะมีคำตอบของพวกเขาเอง เหมือนที่เราก็มีคำตอบของเราอยู่ในปัจจุบัน

ทุก วันนี้เราก็พยายามศึกษาค้นคว้าจากสิ่งที่บรรพบุรุษทิ้งร่องรอยเอาไว้ โดยที่มีความหวังอยู่เสมอว่า สักวันเราจะเข้าใจอดีตให้ได้มากกว่านี้ ในขณะเดียวกันก็พยายามสร้าง “ปัจจุบัน” สร้างอารยธรรมด้วยวิทยาการที่มีและที่จะมีในอนาคต และหวังลึกๆ ว่า ลูกหลานของเรา จะตามหาเรื่องราวของพวกเราได้ จากสิ่งที่เราจะฝากไว้ให้พวกเขา

ปล. จะว่าไป เหมือนคำถามนางงามเลยนะครับ ถามปุ๊บต้องตอบปั๊บ … ตอนนั้น ต้องตอบอาจารย์ท่านดังกล่าวในห้องบรรยาย ผมคิดได้แค่นี้แหละครับ ฮ่าๆๆๆ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.