กระจกโฆษณา

ขณะที่ผมกำลังยืนรอรถไฟฟ้าตรงชานชาลาของสถานีใหญ่แห่งหนึ่งที่ถูกรายล้อมด้วยห้างสรรพสินค้า ด้วยความที่จ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์มาเกือบทั้งวัน ตาจึงล้าไปบ้าง ทำให้ผมเล่นมือถือตอนที่ยืนรอได้แค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น ผมเริ่มมองไปรอบๆ เพื่อพักสายตาจากหน้าจอ มองเห็นผู้คนที่มาต่อคิวเพื่อรอรถขบวนถัดไป ดูท้องฟ้าซึ่งตอนนี้ไม่เหลือแสงอาทิตย์แล้ว มองไปไกลๆ เห็นฟ้าแลบ ได้ยินเสียงฟ้าร้อง สายฝนโปรยปรายลงมาเบาๆ เมื่อผมมองไปรอบๆ สถานี สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตุเห็นและคิดว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่ที่อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่คล้ายกันนี้ก็จะเห็นเหมือนกัน นั่นคือ ทุกวันนี้เราถูกห้อมล้อมด้วย จอ จอ และจอครับ ไม่ใช่แค่ที่นี่แต่หมายถึงแทบจะทุกหนทุกแห่งที่เราอยู่ จะมีจออะไรสักอย่างอยู่ใกล้ๆ เราเสมอ ตั้งแต่จอขนาดเล็กไปจนถึงจอขนาดใหญ่มหึมาเท่าตึกหลายชั้น อย่างน้อยก็จอมือถือที่อยู่ติดตัวเราแทบตลอดเวลา จอเหล่านี้รวมๆ เขาเรียกกันว่า Out-Of-Home Screens ก็คือจอที่อยู่นอกบ้านครับ เพราะสมัยก่อน ก่อนที่เทคโนโลยีจะเฟื่องฟูอย่างปัจจุบัน เราคุ้นเคยกับหน้าจออยู่แค่ไม่กี่แบบ ส่วนใหญ่ก็อยู่ในบ้าน เช่น จอทีวี จอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ นอกบ้านก็มีให้เห็นอยู่บ้างที่คอยให้ข้อมูลบางอย่างกับเรา เช่น ตู้ Kiosk ตามห้าง แต่ปัจจุบันจอที่มีอยู่เต็มไปหมดทั่วทั้งเมือง ไม่ได้มีเพียงข้อมูล แต่สิ่งหนึ่งมาพร้อมกับหน้าจอเหล่านี้ก็คือ โฆษณา
ทุกวันนี้เราเหมือนถูกอัดด้วยสื่อโฆษณาจำนวนมหาศาลผ่านสื่อประเภท Out-Of-Home Media ซึ่งปัจจุบันก็ถือว่า Out-Of-Home Advertising มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในวงการโฆษณา เราเห็นการใช้ OOH Media ในหลากหลายรูปแบบตลอดเวลา ถือเป็นสื่อที่ดูน่าสนใจและน่าตื่นเต้น เพราะมันเคลื่อนไหวได้ หรืออาจจะมีเสียงด้วย จุดที่น่าสนใจของ OOH Media อีกอย่างหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาภายในสามารถทำได้อย่างง่ายดาย ยิ่งหากมีการเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายออนไลน์กันไว้แล้ว การจะเปลี่ยนเนื้อหาของสื่อที่จะแสดงก็ทำได้อย่างรวดเร็วทั้งระบบ ทำให้ผมนึกถึง โดราเอมอน ตอนหนึ่งที่ชื่อ กระจกโฆษณา เป็นของวิเศษที่เปลี่ยนกระจกหรืออะไรก็แล้วที่สามารถสะท้อนเงาได้ ให้กลายเป็นสื่อโฆษณา ช่างเหมือนกับ OOH Media ในปัจจุบันเลยทีเดียว แค่กระจกโฆษณาเป็นจินตนาการเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ OOH Media คือเทคโนโลยีที่เป็นจริงแล้วในปัจจุบัน จะว่าไปผมเคยเห็นกระจกโฆษณาจริงๆ ในห้องน้ำของห้างใหญ่แห่งหนึ่ง ในช่วงที่ไม่มีใครใช้ก็จะกลายเป็นจอโฆษณา แต่พอเราไปยืนอยู่ข้างหน้าเพื่อจะใช้กระจก มันก็จะเปลี่ยนเป็นเพียงกระจกธรรมดา เห็นครั้งแรก ผมแทบจะอุทานออกมาเลยว่า นี่มันคือกระจกโฆษณาของโดราเอมอนนี่นา
อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ใจว่าท่านผู้อ่านจะรู้สึกเหมือนผมหรือเปล่าว่าโฆษณาเหล่านี้ มันท่วมล้นมากเกินไปสำหรับเรา เราเห็นโฆษณามากมายที่เราไม่ได้สนใจ จากทุกๆ ที่ที่เราอยู่ แม้จะมีความพยายามคิดค้นวิธีที่จะนำเสนอโฆษณาให้ตรงความต้องการของผู้รับ หาวิธีนำสื่อไปวางให้ถูกที่ ถูกคน ถูกเวลาก็ดูเหมือนจะไม่ง่าย เพราะเราแทบไม่รู้ว่าแต่ละคนที่เดินผ่านไปผ่านมานั้น ชอบหรือไม่ชอบอะไร ส่วนใหญ่จึงเล็งได้แค่เป้าใหญ่ๆ เท่านั้น ต่างจาก Google Ads ที่ปรากฎอยู่ตามที่ระบบต่างๆ ที่เราใช้งาน เรารู้สึกได้ว่าโฆษณาที่มาจากกูเกิลนั้น สอดคล้องกับความสนใจของเราตลอดเวลา นั่นเพราะว่ากูเกิลวิเคราะห์จากข้อมูลความชอบ ลักษณะนิสัย พฤติกรรมของเราอยู่ตลอดเพื่อเลือกโฆษณาให้ตรงกับใจของเรา การแสดงโฆษณาของกูเกิลจึงมีประสิทธิภาพมาก ถึงตรงนี้หลายท่านคงมีคำถามต่อว่า ถ้าอย่างนั้นถ้าเราจะใช้ OOH Media ให้ตรงความต้องการของผู้รับ เราก็แค่ขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเขาเหมือนที่กูเกิลทำสิ เหมือนเป็นคำถามง่ายๆ นะครับ แต่คำตอบคือ ยากมากที่เราจะขอข้อมูลส่วนตัวของคนที่เดินผ่านไปมา เป็นผมก็ไม่ให้เหมือนกัน  แล้วทำไมกูเกิลถึงทำได้? ที่กูเกิลทำได้เพราะคำคำเดียวที่สำคัญมากๆ นั่นก็คือ Economic Exchange ครับ หมายถึงต้องมีอะไรมาแลกเปลี่ยนกันที่เรารู้สึกว่าเรายอมแลกเพื่อให้ได้บางสิ่งนั้นมา เหมือนกับที่เรายอมแลกข้อมูลส่วนตัว ยอมให้กูเกิลติดตามพฤติกรรมทั้งทางตรงทางอ้อม นำข้อมูลของเราไปวิเคราะห์ ทั้งนี้ก็เพราะเราต้องการหรือจำเป็นต้องใช้บริการใดบริการหนึ่งของกูเกิลนั่นเอง ดังนั้นสิ่งที่จะเอามาแลกเปลี่ยน จึงต้องทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าของสิ่งนั้นมีคุณค่ามีประโยชน์ที่สำคัญกับเขา เขาจึงจะยอมแลกข้อมูลสำคัญบางอย่างกลับมาได้ ถ้า OOH Advertising จะใช้ข้อมูลส่วนตัวไปวิเคราะห์เพื่อจะแสดงโฆษณาที่ตรงใจผู้รับมากที่สุด ก็ต้องขบคิดและคำนึงถึง Economic Exchange ให้มากที่สุด ว่าอะไรคือสิ่งแลกเปลี่ยนที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่านั่นคือสิ่งที่มีคุณค่าและมีประโยชน์เพียงพอที่เขาจะสละข้อมูลส่วนตัวบางอย่างให้ และด้วยวิธีการใด ผมเชื่อว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริง แค่ยังไม่มีใครทำได้ดีพอ แต่สักวันถ้าหาเจอ OOH Ads ที่อยู่รอบตัวเราจะสนุกขึ้นอย่างแน่นอนครับ และผมคิดว่ามันอยู่ในอนาคตที่ไม่ไกลจากนี้เช่นกัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.