อยากถูกจำ อยากถูกลืม

จากตอนที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงทรัพย์สินดิจิทัล(digital asset) มีท่านผู้อ่านหลายท่านสอบถามถึงรายละเอียดกันมา ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าพอใจ ที่ทำให้หลายท่านเกิดความสงสัยและตระหนักถึงความสำคัญขึ้นมาบ้าง และผมเชื่อว่าหลายท่านกลับไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเองเรียบร้อยแล้ว ว่าในความเป็นจริงนั้น ทรัพย์สินจริงที่เราจับต้องได้(real asset) กับทรัพย์สินดิจิทัลนั้น เราต้องมีความเข้าใจและมีมุมมองที่ต่างกัน หากใครที่เคยซื้อโปรแกรม หนังสือ แอพพลิเคชัน หนัง เกม ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งได้กลับมาเป็นเพียงไฟล์ดิจิทัล ช่องทางเหล่านั้น มักเขียนไว้ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นทรัพย์สินที่ไม่สามารถส่งต่อหรือมอบให้เป็นมรดกแก่กันได้ ถ้าเราอยากส่งต่อก็คงต้องส่งต่อกันเป็นบัญชีผู้ใช้(username) กับรหัสผ่าน(password) ไปเลย ซึ่งนั่นก็อาจจะผิดเงื่อนไขของบางบริการที่ต้องมีการยืนยันตัวบุคคลจริง แต่มีหลายบริการที่อนุญาตให้ญาติผู้เสียชีวิตแสดงหลักฐานเพื่อขอสิทธิ์ในการเข้าจัดการบัญชีออนไลน์ได้

 
เมื่อมาถึงประเด็นนี้ ก็สะกิดผมขึ้นมาว่า ก็อาจจะเป็นเรื่องดีนะที่คนที่ยังอยู่จะสามารถเข้าไปจัดการเรื่องต่างๆ ให้เราได้ หากเราเสียชีวิตก่อนที่ได้จะได้ทิ้ง username และ password ไว้ให้ แต่คิดอีกมุมหนึ่ง หรือแท้จริงแล้ว ผู้เสียชีวิตก็อาจจะไม่อยากให้ใครเข้าไปยุ่งกับข้อมูลที่เป็นส่วนตัวของเขาหรือเปล่า เขาอาจจะมีเรื่องที่ไม่อยากให้ใครรู้ เรื่องที่อยากให้หายไปจากโลกนี้พร้อมกับชีวิตของเขา ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว จะยุติธรรมกับเขาหรือเปล่า ก็น่าคิดครับ และทำให้ผมนึกถึงเรื่อง “สิทธิที่จะถูกลืม” (Right to be Forgotten) ซึ่งมีการพูดถึงเมื่อสักสองสามปีก่อน จากกรณีที่ชายชาวยุโรปคนหนึ่งซึ่งประสบปัญหาทางการเงินเข้าขั้นวิกฤตจนต้องถูกบังคับให้ขายทรัพย์สินต่างๆ ที่เขามี เหตุการณ์ในครั้งนั้น มีสื่อเขียนถึงเรื่องราวของเขาด้วยทั้งในสิ่งพิมพ์และออนไลน์ เมื่อเวลาผ่านไป ในที่สุดเขาก็ฝ่าวิกฤตนั้นมาได้ แต่แม้เขาจะพยายามก้าวข้ามวันอันเลวร้ายในอดีตนั้นให้ได้ ทุกครั้งที่เขาค้นในกูเกิลก็จะยังเจอลิงค์ไปยังข่าวนั้นอยู่เสมอ เขาจึงตัดสินใจไปฟ้องศาล ซึ่งสุดท้ายแล้วศาลก็พิจารณาให้กูเกิลลบลิงค์ออกจากผลการค้นหา ในขณะที่สำนักพิมพ์ยังมีสิทธิ์ในการเก็บข้อมูลฉบับที่ตีพิมพ์ไว้ได้ แต่อย่างน้อยเรื่องราวในอดีตก็จะไม่ตามหลอกหลอนชายคนนั้นทุกครั้งที่เขาค้นหาชื่อตัวเองในกูเกิล

ผมขอเล่าเรื่องนี้ไว้แค่คร่าวๆ โดยไม่ระบุรายละเอียดมากนักนะครับ เพราะเจ้าของเรื่องก็คงไม่อยากให้ใครพูดถึงเขามากเท่าไหร่
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีเรื่องหรือความจริงบางอย่างที่สำคัญต่อใครสักคน และเขาอาจไม่อยากให้ใครล่วงรู้ แต่เขามีสิทธิ์จะปกป้องสิ่งเหล่านี้ไว้ได้มากน้อยแค่ไหน ในยุคที่ดูเหมือนว่าเราจะมีพื้นที่ให้เก็บข้อมูลมากมายได้อย่างไม่จำกัด ย้อนไปนึกถึงสมัยที่มือถือสามารถเก็บข้อความ sms ได้เพียง 50 ข้อความ ตอนนั้นเราต้องคอยลบข้อความเก่าทิ้งเป็นระยะ เพื่อให้มีที่สำหรับข้อความใหม่ ก็เหมือนเราต้องเลือกที่จะลืมความทรงจำบางเรื่องไป ปัจจุบันมือถือไม่เคยเตือนเราเรื่องพื้นที่เก็บข้อความเต็มอีกแล้ว เนื่องจากมีพื้นที่เหลือเฟือสำหรับเก็บข้อความตัวอักษร ไม่ต้องคอยตามลบ(เว้นแต่จะรู้สึกรกหูรกตา) มันทำให้รู้สึกว่า เราไม่จำเป็นต้องลบต้องลืมอะไรอีก แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือเปล่า ผมเริ่มไม่แน่ใจ จะเอาอะไรมาตัดสินว่าสิ่งใดควรถูกเปิดเผย สิ่งใดไม่ควรเปิดเผย หากเปิดเผยแล้วจะผลดีไม่ดีกับใครบ้าง จะมีสิทธิ์ปกป้องมันได้ไหม ปกป้องอย่างไร

ยิ่งคิดก็ดูเหมือนว่าจะมีคำถามผุดออกมาเต็มไปหมดครับ เมื่อโลกเปลี่ยนไป ความเข้าใจและมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไปและคงเป็นคำถามที่ต้องช่วยกันขบคิดหาคำตอบต่อไป แต่ถ้าสมมติว่าพรุ่งนี้เราจะไม่อยู่แล้ว มีเรื่องอะไรบ้างเกี่ยวกับตัวเราที่อยากให้ผู้คนจดจำไว้ และเรื่องอะไรบ้างที่ไม่อยากให้ใครรู้หรือลืมเลือนมันไป แล้วเราจะทำอย่างไรดีกับสิ่งเหล่านี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.